เที่ยวไทย

นครวัด ตำนานนครวัด ประวัตินครวัด ปราสาทนครวัด

นครวัด ตำนานนครวัด ประวัตินครวัด ปราสาทนครวัด

เรื่อง
เที่ยวไทย

นครวัด ตำนานนครวัด ประวัตินครวัด ปราสาทนครวัด

นครวัด ตำนานนครวัด ประวัตินครวัด ปราสาทนครวัด

เรื่อง



“นครวัด” หรือฝรั่ง(เศส) เรียก อังกอร์วัด-Angkor Wat เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานที่เรียกรวมกันว่า “เมืองพระนคร” มี “นครธม” โดดเด่นเคียงคู่ ตั้งอยู่ที่เมืองเสียมราฐ (เจ้าของบ้านออกเสียง เสียมเรียบ) กัมพูชา

นครวัดสร้างในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ครองอาณาจักรขอมช่วง พ.ศ.1656-1693 ซึ่งขณะนั้นพราหมณ์ฮินดูไวษณพนิกาย นับถือพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นมหาเทพ รุ่งเรือง สุริยวรมันที่ 2 ทรงสร้างปราสาทนครวัดเป็นเทวาลัยบูชา และให้เป็นที่เก็บพระศพของพระองค์ (ทรงได้พระนามภายหลังสิ้นพระชนม์ว่า บรมวิษณุ ส่งผลนครวัดมีอีกชื่อว่า บรมวิษณุมหาปราสาท) นครวัดจึงแตกต่างกับปราสาทอื่นๆ ตรงที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศของผู้ตาย แทนทิศตะวันออกตามขนบ

ล่วงเข้าสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเปลี่ยนนครวัดเป็นศาสนสถานพุทธนิกายมหายาน จากช่วงเริ่มสร้างกลางพุทธศตวรรษที่ 17 (พ.ศ.1650-1693) ที่เป็นเทวสถานฮินดู ครั้นถึง พ.ศ.1720 จามบุกขอม ชัยวรมันที่ 7 ต้องทรงย้ายไปเมืองนครหลวง ให้สร้างเมืองนครธมและปราสาทบายน ห่างจากนครวัดไปทางเหนือ เป็นเมืองหลวงใหม่



เวลาผ่านเนิ่นนานถึงสมัยนักองค์จันทร์ (พ.ศ.2059-2099) อาณาจักรขอมยุคเมืองพระนครซึ่งล่มสลายโดยสิ้นเชิงไปแล้วด้วยฝีมือ “เจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยา” ที่ยกทัพไปตีทำลายขวัญเมืองนครธม หรือกรุงศรียโสธรปุระ ชนิดมิอาจฟื้นคืน (รัชสมัยพระเจ้าชัยปรเมศวร หรือชัยวรมันที่ 9) ขอมซึ่งเปลี่ยนกลับมานับถือฮินดู แต่เป็นลัทธิไศวนิกาย บูชาพระศิวะ คือพระอิศวร ตั้งแต่ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 มาเข้าสู่พุทธศาสนาอีกครั้ง เป็นพุทธหินยานแบบอยุธยา พร้อมเมืองหลวงถอยร่นลงทางใต้เรื่อยๆ

ชนนีนักองค์จันทร์ขึ้นเหนือไปทำบุญ พบปราสาทโบราณถูกทิ้งร้าง บางส่วนสร้างไม่เสร็จ นักองค์จันทร์จึงบัญชาให้คนไปสร้างต่อ ทั้งให้สร้างพระพุทธรูปไว้บนระเบียงคด และบนปรางค์ปราสาทมากมาย สุสานเทวาลัยจึงกลายเป็นวัดในพุทธศาสนาที่ชื่อ “นครวัด” ซึ่งมาจาก นอกอร์ หมายถึง นคร บวกคำ วัด ก่อนฝรั่งเศสเรียกชื่อ นอกอร์วัด เพี้ยนเป็น อังกอร์วัด ใช้มาจนทุกวันนี้

กว่าจะเป็นปราสาทนครวัด ต้องใช้หินปริมาตรหลายล้านลูกบาศก์เมตร มีหินทรายเป็นวัสดุก่อสร้างหลัก ใช้แรงงานช้างนับหมื่นเชือก แรงงานคนนับแสน ขนและชักลากหินมาจากเขาพนมกุเลนชึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 50 กิโลเมตร มาสร้างปราสาทนครวัดมีเสา 1,800 ต้น หนักต้นละกว่า 10 ตัน และเพราะไม่ได้เป็นเพียงศาสนสถาน ยังเป็นราชธานีด้วย อาณาบริเวณจึงกว้างใหญ่ไพศาล มีความยาว 1.5 กิโลเมตร กว้าง 1.3 กิโลเมตร รวมพื้นที่ 1,219 ไร่ หรือราว 200,000 ตารางเมตร มีแผนผังที่ถือเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดยอดของปราสาทขอม มีปราสาท 5 หลัง ตั้งอยู่บนฐานสูงตามคติฮินดู คือเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล คูน้ำล้อมรอบตามแบบมหาสมุทรล้อมเขาพระสุเมรุ

กำแพงชั้นนอกรอบปราสาทแสนสุดอลังการด้วยงานสลักหิน เหนืออื่นใดคือภาพเล่าวรรณคดี รามายณะ รูปแกะสลักที่มีชื่อที่สุดคือรูปเทวดากับอสูรกวนเกษียรสมุทรด้วยเขาพระสุเมรุ รวมถึงนางอัปสร หรืออัปสรา 1,635 นาง ที่ทั้งหมดทรงเครื่องและทรงผมไม่ซ้ำกันเลย และมีภาพจำหลักหินด้านหนึ่งเป็นภาพกองทัพสยามที่ส่งไปช่วยรบกับพวกจาม เคยมีอักษรจารึกกำกับเหนือภาพไว้ว่า “สยำ กุก” (ปัจจุบันถูกเอาออกไปแล้ว) สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงทัพสยามจากลุ่มแม่น้ำกก คือเชียงราย เชียงแสน หรือจากสุพรรณบุรี

ผ่านหลายศตวรรษจากยุคขอมรุ่งโรจน์ นครวัดถูกทิ้งร้างให้ป่ารกปกคลุม กระทั่งการเดินทางมาของคนต่างถิ่นและแจ้งเกิดสู่โลกภายนอก

ชาวต่างด้าวคนแรกที่บันทึกเรื่องมหานครแห่งนี้คือ “โจวต้ากวาน” นักบันทึกประวัติศาสตร์ผู้เข้าเมืองพระนครพร้อมกับคณะทูตจีนที่ราชวงศ์หยวนส่งมาในพ.ศ. 1839 รัชสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 3 ช่วงปลายของยุคเมืองพระนคร ก่อนย่อยยับด้วยฝีพระหัตถ์เจ้าสามพระยา

ร่วม 1 ปีที่โจวต้ากวานอยู่ในอาณาจักรแห่งนี้ เขาบันทึกความเป็นอยู่ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีไว้อย่างละเอียด เป็นกุญแจนำสู่คำตอบสำคัญที่บอกว่าชีวิตของเมืองพระนครเป็นอย่างไร ปราสาทหินมากมายนั้นสร้างไว้เพื่อใช้ในการอันใดบ้าง เป็นบันทึกที่นักวิชาการตะวันตกโดยมากยอมรับข้อมูล ด้วยเหตุผล โจวต้ากวานถ่ายทอดภาพเมืองพระนครที่ยังมีชีวิตตามที่มันเป็นอยู่

จากนั้นเมื่อกษัตริย์รุ่นต่อมาย้ายเมืองหลวงลงไปทางใต้ และพ้นจากสมัยที่นักองค์จันทร์ให้บูรณะปราสาทนครวัด ก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของกษัตริย์ขอมโบราณอีกเลย แผ่นดินอันรุ่งเรืองเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจังถึงบทสิ้นสูญ ปราสาทต่างๆ ถูกปล่อยร้างและที่สุดก็ซุกหายจากสายตาไปเป็นส่วนหนึ่งของพงไพร

มีบันทึกว่าก่อนถึง อองรี มูโอต์ มีนักบวช นักแสวงบุญ นักเผชิญโชค เดินทางถึงนครวัดมาแล้ว อาทิ บี.พี. กรอสลิเออร์ ชาวโปรตุเกส พ.ศ.2091 เขียนบันทึกชื่อ Angkor et le Cambodge au XVIe siecle ตามด้วย ดิโอโจ โด กูโต เจ้าหน้าที่อาลักษณ์บันทึกพงศาวดารโปรตุเกสประจำอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ที่เขียนบันทึกถึงเมืองพระนครไว้มากที่สุด และอันโตนิโอ ดา มักดาเลนา นักบวชโปรตุเกส ผู้มาในปีพ.ศ. 2129 รวมถึงมาร์เซลโล เดอ ไรบา-เดอเนียรา ทหารรับจ้างชาวสเปน พ.ศ.2136 กับ ชิมาโน เคนเรียว ล่ามชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในเขมรระหว่าง พ.ศ.2166-2179

ผ่านมาถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส อองรี มูโอต์ เดินทางมาศึกษาพรรณพืชเมืองร้อน จากเมืองไทย มูโอต์เข้ากัมพูชาทางทะเลตะวันออก ขึ้นบกที่เมืองกำปอตเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2403 ถึงเมืองพระตะบอง มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสด้วยกันบอกเขาว่า อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบเมืองเสียมเรียบ มีซากโบราณสถานซ่อนอยู่ในป่าใหญ่ มูโอต์ข้ามทะเลสาบสู่เสียมเรียบ บุกเข้าป่าทึบ ได้พบปราสาทนครวัดเป็นแห่งแรก เป็นการค้นพบโบราณสถานที่สำคัญของโลก หลังจากดินแดนขอมโบราณสาบสูญไปกว่า 4 ศตวรรษ

ครั้นกลับฝรั่งเศส เขาเขียนหนังสือบรรยายถึงสิ่งที่ยังไม่รู้ว่าคืออะไรแน่ในเวลานั้น ว่า “นี่คือความยิ่งใหญ่ที่ท้าทายวิหารโซโลมอน มันถูกสร้างขึ้นโดยน้ำมือของไมเคิล แองเจโล แห่งยุคบรรพกาล และสามารถยืนเคียงกับสิ่งก่อสร้างที่มหัศจรรย์ที่สุดของโลกตะวันตกได้อย่างเต็มภาคภูมิ มันยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดๆ ที่กรีกและโรมันทิ้งไว้เป็นมรดกแก่เรา เป็นภาพขัดแย้งอันน่าสลดใจท่ามกลางความเสื่อมโทรมป่าเถื่อนของดินแดนที่ให้กำเนิดมันขึ้นมา” (สำนวนแปล จิระนันท์ พิตรปรีชา หนังสือตำนานนักเดินทาง สนพ.สารคดี)

3 ปีหลังจากมูโอต์ค้นพบนครวัดและนครธม ฝรั่งเศสก็บุกกัมพูชา ยึดเป็นเมืองขึ้นเมื่อ พ.ศ.2406 โบราณสถานเมืองพระนครถูกปล้นอย่างถูกกฎหมายโดยเจ้าอาณานิคมและนักค้าของเก่าจากทุกสารทิศ ที่เห็นทุกวันนี้คือสิ่งที่เหลือรอดมา

06 June 2018
3724

CONTRIBUTORS

RELATED POSTS

...

BANGKOK METROPOLITAN ADMINISTRATION’S IDENTITY SYSTEM

เรื่อง สันติ บุญสา

Farmgroup ปล่อยภาพตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร รวมถึงระบบอัตลักษณ์ของเมืองโฉมใหม่ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา วันนี้อยากชวนมาย้อนดูว่า กระบวนการดีไซน์ผลงานของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง

...

แชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์

เรื่อง สันติ บุญสา

Prompt Design บริษัทออกแบบมือรางวัลที่ให้ความสำคัญกับการเนรมิตบรรจุภัณฑ์นานกว่า 18 ปี

...

ETRANMYRA จักรยานยนต์ไฟฟ้า

เรื่อง สันติ บุญสา

จักรยานยนต์ไฟฟ้า เน้นเจาะตลาด Rider ส่งอาหาร และพัสดุ

...

NOBLE แผนปี 2021 เปิด 11 โครงการ มูลค่า 45,100 ล้าน

เรื่อง สันติ บุญสา

NOBLE ประกาศแผนปี 2021 ทุ่มเปิด 11 โครงการ มูลค่า 45,100 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

...

Nikon ยุติผลิตกล้องถ่ายภาพในญี่ปุ่นที่มีมากว่า 70 ปี

เรื่อง สันติ บุญสา

Nikon ยุติผลิตกล้องถ่ายภาพในญี่ปุ่นที่มีมากว่า 70 ปี ย้ายมาผลิตในไทยแทน เพื่อลดต้นทุน

...

FiLMiC Pro ปล่อยอัปเดตใหม่ เพิ่ม LogV2 ที่มี Dynamic Range ที่ดีขึ้น

เรื่อง สันติ บุญสา

แอปถ่ายวิดีโอ FiLMiC Pro สำหรับ iOS ได้ปล่อยอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญ อย่าง LogV2 ที่รองรับ Dynamic Range มากขึ้น ลดเสียงรบกวน และการปรับความเข้มสีแบบใหม่

ติดตามข่าว DAYPOSURE